สถาบันการบินพลเรือน

Civil Aviation Training Center

feature_post

Share

          ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 กำลังจะสิ้นสุดไป แต่การแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย หรือ SSC จากการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program : USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุดลง

          ความก้าวหน้าล่าสุดในการดำเนินการนั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ทำการว่าจ้าง CAA International Limited (CAAI) สหราชอาณาจักร เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO โดย CAAI จะจัดหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ตรวจสอบและมีความเชี่ยวชาญมาดำเนินการตรวจสอบและประเมินเพื่อออกใบรับรองเดินอากาศใหม่ร่วมกับผู้ตรวจสอบของ กพท.

          นอกจากนี้ CAAI จะช่วยประเมินมาตรฐานและความพร้อมของไทย ในการเข้ารับการตรวจสอบจาก ICAO อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะเป็น ในปี พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ หากเชิญ ICAO มาตรวจสอบรอบใหม่นี้แล้วพบว่าไทยยังคงไม่ผ่านการตรวจประเมินของ ICAO ไทยจะถูกแบล็กลิสต์ และไม่สามารถรับการตรวจสอบจาก ICAO ได้อีก 5 ปี

          กพท. ยังได้มีโครงการความร่วมมือทางเทคนิคระหว่าง กพท. และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ในโครงการปรับปรุงการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน โดยความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 – กันยายน 2561 ซึ่งทางญี่ปุ่นจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานการบินพลเรือนญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำทางวิชาการในการเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการปรับปรุงระบบตรวจสอบความปลอดภัยด้านความสมควรเดินอากาศและการปรับปรุงระบบรายงานความปลอดภัยภาคบังคับด้านการบำรุงรักษาอากาศยาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO

ในขณะที่ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมการบินของไทยต่างระดมสรรพกลังอย่างเต็มที่ เพื่อจะถอดถอน “ธงแดง” ของ ICAO ออกไปจากชื่อประเทศไทยให้ได้นั้น ความท้าทายใหม่ได้แย่งซีนขึ้นมา…เข้าทนอง “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก”

          เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์ ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน จำนวน 9 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารตกค้างอยู่ที่สนามบินต่างๆ เป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องไปถึงเดือนมีนาคม ซึ่งสายการบินนกแอร์ก็ได้แจ้งมายัง กพท. เรื่องการยกเลิกเที่ยวบินในตารางบินโดยเฉลี่ยประมาณ 60 เที่ยวบินต่อวันตลอดทั้งเดือนมีนาคม การยกเลิกเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์นี้ มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนนักบินพาณิชย์

          ข้อมูลจาก Center for Asia Pacific Aviation (CAPA) ระบุว่า “สายการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่งก็กำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินพาณิชย์ที่มีประสบการณ์การบิน เนื่องจากสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการจัดซื้อเครื่องบินลำใหม่โดยขาดการเตรียมความพร้อมเรื่องของนักบินโดยเฉพาะนักบินที่มีประสบการณ์และชั่วโมงบินสูง ให้เพียงพอต่อปริมาณเครื่องบินใหม่ที่ถูกสั่งซื้อเข้ามาในฝูงบินของแต่ละสายการบินและอาจนำไปสู่ปัญหาด้านความปลอดภัยจากการเร่งผลิตนักบินใหม่ที่ไร้คุณภาพ”

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสายการบินนกแอร์ และข้อมูลของ CAPA นี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาของธุรกิจสายการบินพาณิชย์ของไทยในปัจจุบัน

          แนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์ในการขนส่งทางอากาศ ทำให้สายการบินของไทยต่างมีแผนการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการให้สามารถรองรับปริมาณความต้องการเดินทางโดยสารเครื่องบินที่ขยายตัวมากขึ้น ทั้งแผนการขยายจำนวนเครื่องบินโดยสารในฝูงบิน การเปิดจุดบินใหม่ และการเพิ่มจำนวนความถี่ของเที่ยวบินโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา สายการบินต้นทุนต่ำมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าปริมาณผู้โดยสารมีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 ต่อปี และปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 ต่อปี ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมานี้ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานรองรับสายการบินต้นทุนต่ำที่มีปริมาณผู้โดยสารมากที่สุดในโลก และยังเป็นท่าอากาศยานของไทยที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารและเที่ยวบินมากที่สุดอีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม เมื่อการขยายตัวของจำนวนอากาศยานในฝูงบินกับจำนวนนักบินพาณิชย์ของสายการบินนั้นๆ เป็นไปอย่างไร้สมดุล จึงทำให้สายการบินของไทยหลายแห่งประสบปัญหาการขาดแคลนนักบิน ประกอบกับการช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจจากความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ความต้องการนักบินที่พร้อมปฏิบัติการบินให้กับสายการบิน เกิดปัญหาขึ้นตามมา คือ ปัญหานักบินสมองไหลไปยังสายการบินอื่น

          สำหรับในกรณีของสายการบินนกแอร์นั้น จากข้อมูลของ กพท. ณ เดือนมีนาคม 2559 จะพบว่า สายการบินนกแอร์มีอากาศยานในฝูงบินรวมทั้งสิ้น 27 ลำ แต่ปัจจุบันมีนักบินจำนวน 212 คน ซึ่งรวมนักบินที่รับมาเพิ่มอีกจำนวน 16 คนแล้ว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนอากาศยานและจำนวนนักบิน จะพบว่าจำนวนนักบินของสายการบินนกแอร์ยังไม่เพียงพอกับจำนวนอากาศยานนอกเหนือจากสายการบินนกแอร์แล้ว ยังพบว่าสายการบินของไทยอีกหลายแห่งก็กำลังประสบปัญหาเรื่องการเตรียมความพร้อมของนักบินให้มีจำนวนสอดคล้องกับการขยายฝูงบินเช่นกันและหากสายการบินขาดการวางแผนการพัฒนาบุคลากรในสายงานนักบินให้สอดคล้องกับความต้องการนักบินในอนาคตแล้ว ก็ย่อมจะเกิดปัญหาการขาดแคลนนักบินได้ และปัญหานักบินสมองไหลก็ยิ่งจะทำให้ปัญหากลายเป็นลูกโซ่และลุกลามไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบิน

          สถาบันการบินพลเรือน ซึ่งเป็นสถาบันการฝึกอบรมด้านการบินในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ประมาณการในเบื้องต้นถึงความต้องการนักบินพาณิชย์ของสายการบินของไทย โดยใช้สมมุติฐานจากจำนวนอากาศยานที่เพิ่มขึ้นในฝูงบินของสายการบินหลักๆ ของไทยในปี พ.ศ. 2559-2560 และจำนวนนักบินพาณิชย์เพื่อทดแทนนักบินที่เกษียณไป พบว่าความต้องการนักบินพาณิชย์รวมกันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 400-500 คนต่อปี

ดังนั้นเรื่องความเพียงพอของนักบินพาณิชย์ของไทย จึงเกิดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อุตสาหกรรมการบินของไทยต้องพิจารณา เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ นอกเหนือจากการพิจารณาในเรื่องปริมาณที่ต้องให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังต้องพิจารณาในเรื่องของคุณภาพของบุคลากรที่ผลิตได้ด้วย โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นกลุ่มเฉพาะทางด้านการบิน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ถือใบอนุญาตผู้ประจหน้าที่ด้วยแล้ว เนื่องจากเป็นปัจจัยสคัญที่มีผลต่อมาตรฐานและความปลอดภัยในการบิน ดังนั้นมาตรฐานการฝึกอบรมนักบินพาณิชย์ของโรงเรียนการบินต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ กพท. ต้องให้ความสคัญด้วยเช่นกัน

          ปิดท้ายฉบับนี้ด้วยแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (National Civil Aviation Security Programme : NCASP) ฉบับแรกของไทยซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 โดยแผนฉบับนี้เป็นแนวทางในการป้องกันการกระทำอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินได้นำแนวทางที่กำหนดในแผนไปใช้เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ แผนดังกล่าวเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ตัวแทนควบคุมขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมการเพื่อรองรับโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยการบินสากลแบบต่อเนื่อง (Universal Security Audit Programme-Continuous Monitoring Approach : USAP-CMA) ของ ICAO ในปี พ.ศ. 2561 ต่อไป

ดูเหมือนว่าตลอดทั้งปี 2559 นี้ จะเป็นปีแห่งการแก้ปัญหามาตรฐานการบินของไทย และก็ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาอื่นๆ ทยอยเกิดขึ้นมาให้ได้แก้ไขกัน ซึ่งปัญหาเรื่องความเพียงพอของนักบินพาณิชย์ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายบทใหม่ให้ กพท. ต้องพัฒนากลยุทธ์มารับมือให้ได้…ซ้อมมือไว้ให้พร้อมสำหรับการตรวจสอบ USAP-CMA ในปี 2561 นี้

 

บทความ : น.ส.ชลันทิพย์ ประดับพงษา หัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาธุรกิจการบิน สถาบันการบินพลเรือน