คำตอบที่สั้นและชัดเจนที่สุดคือ
เมื่อมีอากาศยานอุบัติเหตุเกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสอบสวนเพื่อ “หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาสาเหตุที่สอบสวนได้นั้น มาป้องกันไม่ให้อากาศยานอุบัติเหตุในทำนองเดียวกัน หรือจากสาเหตุเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคตครับ และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุนั้นเป็นการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุในการป้องกันเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายในการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุเพื่อหาคนผิด เพื่อตำหนิหรือหาผู้ชดใช้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครับเพราะหากว่าการสอบสวนมุ่งไปเพื่อหาคนผิดหรือผู้ที่จะมาชดใช้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น“จะส่งผลให้เกิดการปิดบังปกปิดข้อเท็จจริง และในที่สุดก็จะไม่ได้มาซึ่งสาเหตุของอากาศยานอุบัติเหตุที่แท้จริงครับ” นี่คือสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนที่เราจะศึกษากันต่อไปในเรื่องของการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ
คำนิยามและความหมายในการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ
ในการศึกษาถึงอากาศยานอุบัติเหตุนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจถึงคำนิยามและความหมายที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานอุบัติเหตุซึ่งคำ นิยามเหล่านี้ได้ถูกกำหนดไว้ในภาคผนวกที่ 13 ของอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO Annex 13 ซึ่งผู้เขียนจะขอแปลและสรุปให้ง่ายเพื่อความเข้าใจ โดยคำนิยามและความหมายต่างๆ จะมีดังนี้
อากาศยานอุบัติเหตุ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงานของอากาศยานโดยเริ่มต้นตั้งแต่มีบุคคลอยู่บนเครื่องบินและบุคคลนั้นมีความตั้งใจที่จะเดินทางไปกับอากาศยานลำนั้น และสิ้นสุดจนกระทั่งบุคคลทั้งหมดลงจากอากาศยานโดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้
- บุคคลเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสจะต้องอยู่บนอากาศยาน หรือสัมผัสโดยตรงกับอากาศยานหรือได้รับผลกระทบจากกระแสไอพ่นของอากาศยาน
- อากาศยานได้รับความเสียหายรุนแรงถึงขั้นโครงสร้างต้องได้รับการซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ได้รับความเสียหายนั้น
- อากาศยานสูญหายไม่สามารถค้นพบหรือเข้าถึงซากอากาศยานได้
บาดเจ็บสาหัส คือ การบาดเจ็บของร่างกายที่มีสภาพดังต่อไปนี้
- การบาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 48 ชั่วโมง
- การบาดเจ็บโดยที่กระดูกส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายหัก ยกเว้น กระดูกนิ้วมือ กระดูกนิ้วเท้าหรือดั้งจมูกหัก
- ร่างกายถูกไฟไหม้มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์
การสอบสวนอากาศอุบัติเหตุ คือ กระบวนการที่ดำ เนินการขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันอากาศอุบัติเหตุซึ่งกระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย
- การเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล
- การสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุและจัดทำคำแนะนำ ในการแก้ไขและป้องกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
หลักการในการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ
หลักการในการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุนั้นได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นหลักการสากลนานาชาติ ซึ่งถูกกำหนดโดยหน่วยงานที่ชื่อว่าองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ International Civil Aviation Organization : ICAO โดยทุกประเทศที่เป็นสมาชิกหรือรัฐสมาชิกของ ICAO จะมีพันธะสัญญาในการปฏิบัติตามข้อตกลงในหลักการดังกล่าวซึ่งถูกกำหนดเป็นมาตรฐานตามอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า อนุสัญญาชิคาโกเพื่อให้เกิดความเข้าใจในมาตรฐาน และการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เรามาทำความรู้จักกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ อนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และรัฐภาคีหรือประเทศสมาชิกของ ICAO กันก่อนครับ
ในปัจจุบันนี้ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกจะเป็นรัฐภาคีหรือประเทศสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ International Civil Aviation Organization : ICAO
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศจะเรียกประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนว่ารัฐภาคีหรือ Contracted State ซึ่งในปัจจุบันจะมีประเทศสมาชิก หรือรัฐภาคีหรือที่เรียกกันในคำศัพท์ของ ICAO ว่าเป็น Contracted State ประมาณเกือบ 200 ประเทศ ซึ่งล่าสุดที่ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลจะมีรัฐภาคีของ ICAO ในปัจจุบันมีจำนวน 192 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย (รายละเอียดหากมีผู้ใดสนใจเพิ่มเติมในรายชื่อของรัฐภาคีของ ICAO ขอให้ไปศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ ICAO ที่ http://www.icao.int)
มาตรฐานของการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุได้กำหนดอยู่ในภาคผนวกที่ 13 ของอนุสัญญา การบินพลเรือนระหว่างประเทศโดยได้กำหนดมาตรฐานและคำแนะนำในการปฏิบัติที่เป็นสากลว่าด้วยการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุให้กับรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศนำไปปฏิบัติซึ่งประกอบด้วย
- การรายงานอากาศยานอุบัติเหตุ
- การสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของอากาศยานอุบัติเหตุ
- และมาตรการการป้องกันอากาศยานอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
บทความ : น.ต.ดร.สมชนก เทียมเทียบรัตน์